ตลท.คลอดเกณฑ์จดทะเบียน-ซื้อขายหลักทรัพย์ “ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์” มีผล 31 มี.ค.65 สร้างโอกาส SMEs และ Startups เข้าถึงแหล่งทุน เผยมี 3 บริษัทพร้อมระดมทุน เตรียมยื่นไฟลิ่งQ2 คาดประเดิมเทรดQ3 ปีนี้ พร้อมตั้ง“ประพันธ์ เจริญประวัติ” เป็นผู้จัดการ LiVEx เพิ่มเติมอีกตำแหน่ง
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ ( LiVEx) ออกแบบขึ้นเพื่อธุรกิจ SMEs และ Startups ที่ต้องการเติบโต แต่ยังขาดโอกาสต่อยอดธุรกิจ ได้เข้ามาสร้างการเติบโตและก้าวไปสู่เส้นทางตลาดทุน ภายใต้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และเมื่อธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตยกระดับไปจนถึงการเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนผลักดันไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ LiVEx เป็นอีกทางเลือกในการเพิ่มโอกาสลงทุนสำหรับผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยอีกด้วย
ล่าสุดตลท.ได้ออกประกาศเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ LiVEx แล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 มีนาคม 2565
สาระสำคัญของเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ใน LiVEx ดังนี้
คุณสมบัติผู้ที่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนฯ ใน LiVEx
เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และได้รับอนุญาตเสนอขายหุ้นจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะคล้ายกันกับบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET และ mai, กรรมการและผู้บริหารต้องไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ และผู้บริหารผ่านหลักสูตรเตรียมความพร้อมในการเข้าตลาดทุน
ไม่มีการกำหนดทุนชำระแล้ว ซึ่งจะแตกต่างจาก SET ที่จะต้องมีทุนชำระแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท และ mai ที่จะต้องมีทุนชำระแล้วมากกว่า 50 ล้านบาท
ต้องเป็น SMEs ขนาดกลางขึ้นไปตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ Startups ต้องมี VC/PE ร่วมลงทุน
การยื่นคำขอและเสนอขายหุ้น ไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) โดยเสนอขายกับผู้ลงทุนตามประเภทที่ ก.ล.ต.กำหนด
มูลค่าการระดมทุน 10-500 ล้านบาท และต้องระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าระดมทุนที่ตั้งไว้
กำหนดระยะเวลาห้ามขายหุ้น 3 ปี จำนวน 55% สำหรับ Startegic Shareholders และทยอยขายได้ 20% เมื่อครบ 1 ปี และหลังจากนั้นทุกๆ 6 เดือน
สำหรับประเภทผู้ลงทุนใน LiVEx ประกอบด้วย
1.ผู้ลงทุนสถาบัน นิติบุคคลร่วมลงทุน กิจการเงินร่วมลงทุน
2.ผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน เช่น ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การลงทุน และ Angel Investor
3.บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท เช่น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทย่อยและบริษัทร่วม
4.ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งมีคุณสมบัติเกี่ยวกับความรู้หรือประสบการณ์และฐานะการเงิน
โดยผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้หรือประสบการณ์ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) คือ
ประสบการณ์การลงทุนย้อนหลังในสินทรัพย์เสี่ยง ประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารการเงินและการลงทุน ความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างเพียงพอ และผู้แนะนำการลงทุน หรือวางแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. หรือได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรที่ก.ล.ต.ยอมรับ
ฐานะทางการเงิน (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เช่น สินทรัพย์สุทธิ ไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท รายได้ต่อปี ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท และ เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ล้านบาท หรือไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทในกรณีที่นับรวมเงินฝาก
ขณะที่การซื้อขายหลักทรัพย์ใน LiVEx จะต้องผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เฉพาะประเภทผู้ลงทุนที่กำหนดโดย ก.ล.ต. (บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่ KYC ผู้ลงทุน) แยกระบบซื้อขายจากการซื้อขายหลักทรัพย์ใน SET และ mai โดยบัญชีซื้อขายแบบ Prepaid (มีหุ้นและเงินเพียงพอสำหรับการซื้อขาย), ไม่อนุญาตให้ขายชอร์ต
ด้านวิธีการซื้อขายแบบ Auction ด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติวันละ 1 รอบ และแบบ Trade Report ตั้งแต่ 9.30-11.00 น. ไม่ให้มีการซื้อขายผ่านระบบ Direct Market Access หรือ Algorithmic Trading ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ แบบ Gross settlement ภายในวันที่มีการซื้อขาย
นอกจากนี้ ยังไม่มีการกำหนด Ceilling & Floor และ Circuit Breaker โดยตลท.อาจสั่งหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว (ขึ้นเครื่องหมาย SP) กรณีมีเหตุทำให้การซื้อขายไม่อาจทำได้โดยปกติ หรือเมื่อบริษัทจดทะเบียนร้องขอกรณีการย้ายตลาดไป SET หรือ mai
ประเดิมเทรดช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
นายประพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลท.อยู่ระหว่างหารือกับบริษัท SMEs และ Startups ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 ราย ที่มีความพร้อมที่จะเข้ามาระดมทุนและนำหุ้นเข้าซื้อขายใน LiVEx ในปีนี้ เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านเฮลท์แคร์เทคโนโลยี ธุรกิจอาหาร และไอทีเทคโนโลยี เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่าจะมีเม็ดเงินระดมทุนหลัก 100 ล้านบาท คาดจะเริ่มทยอยยื่นไฟลิ่งได้ในช่วงไตรมาส 2/2565 และเข้าซื้อขายได้ในช่วงไตรมาส 3/2565
ตลท.ยืนยันว่ามีความพร้อมอย่างมากในการรองรับการซื้อขายในกระดาน LiVEx เนื่องจากคาดว่าจะมีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ราว 10 โบรกเกอร์ที่พร้อมเข้ามาซื้อขายในตลาดฯ ในการเปิดให้ลงทุนวันแรก และในอนาคต หากกระดาน LiVEx ไปได้ดี ตลท.มีแผนที่จะจัดตั้งกองทุน ซึ่งจะเป็นกองทุนที่มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อเป็นช่องทางให้นักผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้ามาลงทุนในหุ้น SMEs และ Startups ได้ แต่จะเป็นการซื้อผ่านกองทุนโดยมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยบริหารจัดการให้
ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มอบหมายให้นายประพันธ์ เจริญประวัติ เป็นผู้จัดการ LiVEx เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่นายประพันธ์ เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ซึ่งนายประพันธ์มีส่วนขับเคลื่อนและพัฒนา LiVEx ตั้งแต่เริ่มแรก โดยมีผลตั้งแต่ 15 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
สำหรับ SMEs และ Startups ที่สนใจสามารถยื่นแบบไฟลิ่ง ได้ที่ www.live-platforms.com ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีบริษัทยื่นไฟลิ่งในไตรมาส 2 ปีนี้ และจะเริ่มซื้อขายใน LiVEx ประมาณไตรมาส 3 เป็นต้นไป สำหรับ SMEs และ Startups ที่เข้าจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2565 – 2567 ยังจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการเข้าจดทะเบียนอีกด้วย
นอกจากนี้ LiVEx จะเดินสายให้ข้อมูลผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก 31 มีนาคม 2565 จัดสัมมนาออนไลน์ “เจาะเกณฑ์เข้าจดทะเบียน และการลงทุนตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx)” สำหรับผู้ประกอบการและผู้สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.live-platforms.com
สำหรับเกณฑ์การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่เพื่อการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ ที่ www.sec.or.th หัวข้อ “กฎหมาย/กฎเกณฑ์”
สำหรับเกณฑ์การจดทะเบียนและซื้อขายหลักทรัพย์ในไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ ที่ www.set.or.th หัวข้อ “กฎเกณฑ์/การกำกับ”
อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market